การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม (Breast cancer screening)

ณภัทร เพ็ชรศรีกุล

นักเรียนแพทย์ทหารชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เลขที่ 317 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี
จังหวัดกรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10400 โทรศัพท์: +66 (0) 91 601 9939 โทรสาร: +66 (0) 2 354 7791
Email: Napat.pet@pcm.ac.th

 

มะเร็งเต้านมเป็นชนิดของมะเร็งซึ่งพบได้บ่อยที่สุดในเพศหญิงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยรายงานจากองค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) พบว่ามีสตรีจำนวน 627,000 คน เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15 ของสาเหตุการเสียชีวิตในสตรีทั่วโลกที่เป็นมะเร็ง นอกจากนี้อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมในสตรีไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นในแต่ละปี(1-9) ซึ่งผู้ที่ตรวจพบมะเร็งเต้านมระยะแรกจะมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงกว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และเสียค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า(10,11) ทั้งนี้ข้อมูลจากทะเบียนมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในประเทศไทยปี พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) รายงานว่าผู้ป่วยเพศหญิงรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมมีจำนวน 780 คน จากจำนวนสตรีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งทั้งหมด 2,014 คน คิดเป็นร้อยละ 38.73 อนึ่งจากการจำแนกชนิดของมะเร็งเต้านมในผู้ป่วยรายใหม่ดังกล่าวนั้นพบว่า ร้อยละ 78.97 คือ Infiltrating duct carcinoma โดยร้อยละ 86.54 ตรวจพบมะเร็งจากวิธีการตรวจหาเนื้องอกปฐมภูมิ และร้อยละ 6.67 ตรวจพบมะเร็งจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย ทั้งนี้ร้อยละของมะเร็งเต้านมที่ถูกตรวจพบนั้น ได้แก่ เป็นมะเร็งระยะที่ 1 ร้อยละ 13.43; เป็นมะเร็งระยะที่ 2 ร้อยละ 33.38; เป็นมะเร็งระยะที่ 3 ร้อยละ 31.07; เป็นมะเร็งระยะที่ 4 ร้อยละ 12.15; และเป็นมะเร็งที่ไม่ทราบระยะ ร้อยละ 9.72(1) แม้กระนั้นก็ตามสัดส่วนของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 ในประเทศไทยยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะที่ 1 ได้มากที่สุด(12) ดังนั้นประสิทธิภาพการตรวจวินิจฉัยระยะแรกของมะเร็งเต้านมในประเทศไทยจะต้องถูกนำมาพิจารณามากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันการใช้ Serum tumour markers ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ได้แก่ CA 15-3, CA 27-29 และ CEA อย่างไรก็ตาม The National Comprehensive Cancer Network (NCCN) และ American Society of Clinical Oncology (ASCO) ไม่แนะนำการใช้ Serum tumour markers เพื่อการตรวจคัดกรอง การวินิจฉัยและการบอกระยะของโรค รวมถึงเพื่อการติดตามการเกิดมะเร็งซ้ำ (Recurrence) ภายหลังจากได้รับการรักษามะเร็งเต้านมครั้งแรก เนื่องจาก Serum tumour markers ดังกล่าวนั้นมีความไวและความจำเพาะต่ำ แต่ควรใช้ Serum tumour markers ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพื่อติดตามผลการตอบสนองต่อการรักษาทั้งในผู้ป่วยที่มีและไม่มีการแพร่กระจายของมะเร็งนั้น(13)

ข้อจำกัดของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในประเทศไทย คือ ไม่มีคำแนะนำสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในประชากรไทยโดยเฉพาะ และแบบประเมินความเสี่ยงมะเร็งเต้านมในปัจจุบันไม่เหมาะสมกับประชากรไทย(14) นอกจากนี้สตรีไทยมีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมมากกว่าชาวตะวันตก จึงเป็นอุปสรรคต่อการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยวิธีการถ่ายภาพรังสีเต้านมหรือแมมโมแกรม (Screening mammography) ในผู้ป่วยบางราย(15,16) เพราะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมอาจพรางก้อนมะเร็ง (Masking effect) ได้(17) จึงส่งผลให้ความไวในการตรวจพบลดลงจากร้อยละ 80 เหลือเพียงร้อยละ 30(18) ในอีกทางหนึ่งประเทศไทยจะมีการแนะนำให้ทำแมมโมแกรมในเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป(19) แต่ข้อมูลจากทะเบียนมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในประเทศไทยปี พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017)(1) แสดงว่าร้อยละ 15 ของมะเร็งเต้านมในสตรีไทยพบได้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี

ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ อันส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้น มีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Information Technology Division, National Cancer Institute. Hospital Based Cancer Registry 2017 [online]. 2017 [cited 2019 June 30]. Available from: http://www.nci.go.th/th/File_download/Nci%20Cancer%20Registry/HOSPITAL-BASED%202016%20Revise%204%20Final.pdf.
  2. Information Technology Division, National Cancer Institute. Hospital Based Cancer Registry 2016 [online]. 2016 [cited 2019 June 30]. Available from: http://www.nci.go.th/th/File_download/Nci%20Cancer%20Registry/Hospital-Based%20NCI2%202016%20Web.pdf.
  3. Information Technology Division, National Cancer Institute. Hospital Based Cancer Registry 2015 [online]. 2015 [cited 2019 June 30]. Available from: http://www.nci.go.th/th/File_download/Nci%20Cancer%20Registry/HOSPITAL-BASED%202015.pdf.
  4. Information Technology Division, National Cancer Institute. Hospital Based Cancer Registry 2014 [online]. 2014 [cited 2019 June 30]. Available from: http://www.nci.go.th/th/File_download/Nci%20Cancer%20Registry/HOSPITAL-BASED%202014.pdf.
  5. Information Technology Division, National Cancer Institute. Hospital Based Cancer Registry 2013 [online]. 2013 [cited 2019 June 30]. Available from: http://www.nci.go.th/th/File_download/Nci%20Cancer%20Registry/HOSPITAL-BASED%202013.pdf.
  6. Information Technology Division, National Cancer Institute. Hospital Based Cancer Registry 2012 [online]. 2012 [cited 2019 June 30]. Available from: http://www.nci.go.th/th/File_download/Nci%20Cancer%20Registry/Hospital-Based%20NCI%202012%20Total.pdf.
  7. Information Technology Division, National Cancer Institute. Hospital Based Cancer Registry 2011 [online]. 2011 [cited 2019 June 30]. Available from: http://www.nci.go.th/th/File_download/Nci%20Cancer%20Registry/Hospitalbase2011.pdf.
  8. Information Technology Division, National Cancer Institute. Hospital Based Cancer Registry 2010 [online]. 2010 [cited 2019 June 30]. Available from: http://www.nci.go.th/th/File_download/Nci%20Cancer%20Registry/Hospital%20Based%20Cancer%20Registry2010.pdf.
  9. D Shin HR, Joubert C, Boniol M, Hery C, Ahn SH, Won YJ, et al. Recent trends and patterns in breast cancer incidence among Eastern and Southeastern Asian women. Cancer Causes Control. 2010;21(11):1777-85.
  10. สุธีร์ รัตนมงคลกุล, มิลทิตา ศรีไพบูลกิจ. Fact about breast cancer: Thailand and other countries. 20 Years Thanyarak Breast Center Breast Imaging & Medical Audit from Past to Present. กรุงเทพฯ: มูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 2559;24-31.
  11. American Cancer Society, Brest Cancer survival rates, By stage [online]. [cited 2019 June 30]. Available from: https://www.cancer.org/cancer/breast-cancer/understanding-a-breast-cancer-diagnosis/breast-cancer-survival-rates.html.
  12. National Cancer Intelligence Network Short Report, Routes to diagnosis 2015 update: breast (female) cancer [online]. [cited 2019 June 30]. Available from: http://www.ncin.org.uk/view?rid=3108.
  13. Harris L, Fritsche H, Mennel R, Norton L, Ravdin P, Taube S, et al. American Society of Clinical Oncology 2007 update of recommendations for the use of tumour markers in breast cancer. J Clin Oncol. 2007;25(33):5287-312.
  14. Wongkietkachorn A, Tantiphlachiva K. Emerging role of MRI in breast cancer screening, pitfalls of current breast screening in Thailand. Chula Med J 2015 Mar – Apr;59(2): 151-63.
  15. Kim BS, Moon BI, Cha ES. A comparative study of breast-specific gamma imaging with the conventional imaging modality in breast cancer patients with dense breasts. Ann Nucl Med. 2012;26(10):823-9.
  16. Bhothisuwan W. Practicing breast imaging in HRT ladies in Thailand. J Med Assoc Thai. 2004;87 Suppl 3:S169-73.
  17. Pinsky RW, Helvie MA. Mammographic breast density: effect on imaging and breast cancer risk. J Natl Compr Canc Netw. 2010;8(10):1157-64.
  18. Mandelson MT, Oestreicher N, Porter PL, White D, Finder CA, Taplin SH, et al. Breast density as a predictor of mammographic detection: comparison of interval- and screen-detected cancers. J Natl Cancer Inst. 2000;92(13):1081-7.
  19. Bevers TB, Helvie M, Bonaccio E, Calhoun KE, Daly MB, Farrar WB, et al. Breast Cancer Screening and Diagnosis, Version 3.2018, NCCN Clinical Practice Guidelines in Oncology. J Natl Compr Canc Netw. 2018;16(11):1362-89.