ผู้ช่วยพยาธิแพทย์ (Pathologists' assistants)

ธีรยสถ์ นิมมานนท์

ภาควิชาพยาธิวิทยา ชั้น 6 อาคารเจ้าฟ้าเพชรรัตน วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
เลขที่ 317 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี จังหวัดกรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10400
โทรศัพท์: +66 (0) 89 050 7776 และ +66 (0) 95 175 3052 โทรสาร: +66 (0) 2 354 7791
Email: thirayost@pcm.ac.th, thirayost@pcmpathology.org, thirayost@outlook.com

 

ถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบันนี้จะยังไม่มีข้อมูลหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ แต่ก็เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าพยาธิแพทย์ในประเทศไทยซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนต่างประสบปัญหาภาระงานที่มากเกินพอดีในการตรวจสิ่งส่งตรวจทางพยาธิวิทยากายวิภาคด้วยตาเปล่าและกล้องจุลทรรศน์ โดยเฉพาะพยาธิแพทย์ผู้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ต้องมีภาระงานด้านการเรียนการสอนแก่นักเรียนแพทย์และแพทย์ประจำบ้านสาขาพยาธิวิทยากายวิภาค (Anatomical Pathology) และ/หรือสาขาพยาธิวิทยาทั่วไป (Anatomical and Clinical Pathology) ร่วมกับปฏิบัติงานด้านการวิจัยเพิ่มเติมด้วย ดังนั้นจึงปรากฏความต้องการจากพยาธิแพทย์เป็นจำนวนมากสำหรับบุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็น "ผู้ช่วยพยาธิแพทย์ (Pathologists' assistant)" เพื่อแบ่งเบาภาระงานด้านต่าง ๆ ของพยาธิแพทย์(1-3) อันประกอบไปด้วย

  • การติดต่อสื่อสารและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกสถาบัน สำหรับขั้นตอนการเก็บสิ่งส่งตรวจทางพยาธิวิทยากายวิภาค การจัดส่ง และการรายงานผล
  • การตรวจสอบความครบถ้วนและความถูกต้องของสิ่งส่งตรวจทางพยาธิวิทยากายวิภาคก่อนรับเข้ามาในระบบ รวมถึงการเก็บรักษาตามระยะเวลาที่กำหนดของสิ่งส่งตรวจภายหลังการตรวจด้วยตาเปล่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
  • การบรรยายพร้อมกับการถ่ายภาพของพยาธิสภาพและ/หรือรอยโรคของสิ่งส่งตรวจที่พบขณะทำการตรวจทางพยาธิวิทยากายวิภาคด้วยตาเปล่า
  • การตรวจสอบ จัดเตรียม ดูแลรักษา และทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสิ่งส่งตรวจทางพยาธิวิทยากายวิภาคด้วยตาเปล่าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และพร้อมใช้อยู่เสมอ
  • การเก็บ การลงทะเบียน การคัดแยก การดูแลรักษา รวมถึงการบริหารจัดการสิ่งส่งตรวจประเภทต่าง ๆ สำหรับการนำไปใช้ในงานวิจัยทางด้านชีวเวชศาสตร์ (Biomedical sciences) พยาธิวิทยา (Pathology) พยาธิชีววิทยา (Pathobiology) อณูเวชศาสตร์ (Molecular Medicine) และอณูพยาธิวิทยา (Molecular pathology)

อนึ่งการปฏิบัติงานของผู้ช่วยพยาธิแพทย์ในการตรวจสิ่งส่งตรวจทางพยาธิวิทยากายวิภาคด้วยตาเปล่ามีประสิทธิผลเทียบเคียงหรือมากกว่าแพทย์ประจำบ้านสาขาพยาธิวิทยากายวิภาคและ/หรือสาขาพยาธิวิทยาทั่วไป(4) เพราะฉะนั้นผู้ช่วยพยาธิแพทย์ที่มีความชำนาญการนั้นสามารถที่จะมีบทบาทและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและการให้คำแนะนำเรื่องการตรวจสิ่งส่งตรวจทางพยาธิวิทยากายวิภาคด้วยตาเปล่าสำหรับแพทย์ประจำบ้านที่เพิ่งเข้ารับการฝึกอบรมซึ่งจะยังผลให้เกิดประสิทธิภาพของกระบวนการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นของแพทย์ประจำบ้านอันเนื่องมาจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการอภิปรายถกเถียงทางวิชาการซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังก่อให้เกิดการลดภาระงานของพยาธิแพทย์ผู้เป็นอาจารย์ได้ส่วนหนึ่งด้วย(1-3,5)

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้นทั้งหมดการฝึกอบรมบุคคลเพื่อมาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยพยาธิแพทย์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดและเร่งด่วนสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันทางแพทยศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ของประเทศไทย

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Grzybicki, D.M., Reilly, T.L., Hart, A.R., Galvis, C.O. & Raab, S.S. 2001, "National practice characteristics and utilization of pathologists' assistants", Archives of Pathology & Laboratory Medicine, vol. 125, no. 7, pp. 905-912.
  2. Grzybicki, D.M., Vrbin, C.M., Reilly, T.L., Zarbo, R.J. & Raab, S.S. 2004, "Use of physician extenders in surgical pathology practice", Archives of Pathology & Laboratory Medicine, vol. 128, no. 2, pp. 165-172.
  3. Vitale, J., Brooks, R., Sovocool, M. & Rader, W.R. 2012, "Value-added benefits and utilization of pathologists' assistants", Archives of Pathology & Laboratory Medicine, vol. 136, no. 12, pp. 1565-1570.
  4. Galvis, C.O., Raab, S.S., D'Amico, F. & Grzybicki, D.M. 2001, "Pathologists' assistants practice: a measurement of performance", American Journal of Clinical Pathology, vol. 116, no. 6, pp. 816-822.
  5. Grzybicki, D.M. & Vrbin, C.M. 2003, "Pathology resident attitudes and opinions about pathologists' assistants", Archives of Pathology & Laboratory Medicine, vol. 127, no. 6, pp. 666-672.