ความหลากหลายที่เกิดในแต่ละเซลล์ของเนื้อเยื่อมะเร็ง (Tumour heterogeneity)

ภูศิษฏ์ เรืองวาณิชยกุล

ภาควิชาพยาธิวิทยา ชั้น 6 อาคารสิรินธร โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
เลขที่ 99 หมู่ 9 ถนนพิษณุโลก-นครสวรรค์ ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก รหัสไปรษณีย์ 65000
โทรศัพท์: +66 (0) 89 439 2640 โทรสาร: +66 (0) 55 965 331 Email: poosit.rue@hotmail.com

 

จากการศึกษาทางอณูพยาธิวิทยา (Molecular pathology) ของมะเร็งแสดงให้เห็นว่า ภายในเนื้อเยื่อมะเร็งจะปรากฏความหลากหลายของลักษณะทางจุลกายพยาธิสภาพ (Histopathological appearances) และลักษณะการแสดงออกทางโมเลกุล (Molecular expression profile) ของเซลล์มะเร็ง ทั้งนี้สิ่งที่ปรากฏในเนื้อเยื่อมะเร็งดังกล่าวนั้นเรียกว่า "Tumour heterogeneity" ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ใน 4 รูปแบบ(1) ดังนี้คือ

 

รูปแบบที่ 1

เป็นความหลากหลายที่เกิดในแต่ละเซลล์ของเนื้อเยื่อมะเร็งปฐมภูมิ (Primary cancer) ของผู้ป่วยแต่ละรายที่มีมะเร็งเกิดขึ้นในอวัยวะเดียวกันและมีลักษณะทางจุลกายพยาธิสภาพชนิดเดียวกันอีกด้วย ซึ่งเรียกความหลากหลายของเนื้อเยื่อมะเร็งแบบนี้ว่า "Interpatient tumour heterogeneity"

 

รูปแบบที่ 2

เป็นความหลากหลายที่เกิดในแต่ละเซลล์ของเนื้อเยื่อมะเร็งปฐมภูมิของผู้ป่วย ซึ่งเรียกความหลากหลายของเนื้อเยื่อมะเร็งแบบนี้ว่า "Intratumour heterogeneity"

 

รูปแบบที่ 3

เป็นความหลากหลายที่เกิดในแต่ละเซลล์ของเนื้อเยื่อมะเร็งทุติยภูมิ [Secondary (metastatic) cancer] ที่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆของผู้ป่วย ซึ่งเรียกความหลากหลายของเนื้อเยื่อมะเร็งแบบนี้ว่า "Intermetastatic heterogeneity"

 

รูปแบบที่ 4

เป็นความหลากหลายที่เกิดในแต่ละเซลล์ของเนื้อเยื่อมะเร็งทุติยภูมิที่อยู่ในอวัยวะนั้น ซึ่งเรียกความหลากหลายของเนื้อเยื่อมะเร็งแบบนี้ว่า "Intrametastatic heterogeneity"

เนื่องจากความหลากหลายในลักษณะการแสดงออกทางโมเลกุลของเซลล์มะเร็งเต้านมแต่ละเซลล์ที่ปรากฏอยู่ในเนื้อเยื่อมะเร็งนั้น ทำให้เกิดสมมติฐานว่าการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังตำแหน่งต่างๆของร่างกายนั้น เกิดจากการคัดเลือกเซลล์มะเร็งบางตัวในตำแหน่งปฐมภูมิ (Primary cancer cells) ซึ่งเซลล์นั้นถูกแบ่งตัวจากเซลล์มะเร็งเริ่มแรกโดยกระบวนการที่เรียกว่า "Clonal selection" โดยเซลล์ที่ถูกคัดเลือกดังกล่าวจะมีคุณสมบัติทางโมเลกุลซึ่งเอื้อต่อคุณสมบัติของการแพร่กระจาย ดังนั้นมิใช่เซลล์มะเร็งทั้งหมดในตำแหน่งปฐมภูมิที่สามารถแพร่กระจายได้ ทั้งนี้เซลล์มะเร็งซึ่งแพร่กระจายไปยังตำแหน่งต่างๆของร่างกาย (Metastatic cancer cells) จะปรากฏการแสดงออกทางโมเลกุลที่แตกต่างไปจากเซลล์มะเร็งส่วนใหญ่ในตำแหน่งปฐมภูมิด้วย อันเป็นผลให้การเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งทั้งสองแห่งนั้นมีความแตกต่างกันด้วยเช่นกัน(2)

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Jamal-Hanjani M, Quezada SA, Larkin J, Swanton C. Translational implications of tumor heterogeneity. Clin Cancer Res 2015 Mar 15;21(6):1258-1266.
  2. Talmadge JE, Fidler IJ. AACR centennial series: the biology of cancer metastasis: historical perspective. Cancer Res 2010 Jul 15;70(14):5649-5669.