Acute excess levels of thyroid hormones related to hanging - is it a possible mechanism of death?


Sasiporn Duangtongkeaw1, Vichan Peonim1* and Supatra Leelaphiwat2

1. Forensic Medicine Unit, Department of Pathology, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University, Bangkok, Thailand
2. Clinical Pathology Unit, Department of Pathology, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University, Bangkok, Thailand

Correspondence to: Associate Professor Air Vice Marshal Dr Vichan Peonim
Forensic Medicine Unit, Department of Pathology, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital, Mahidol University,
270 Rama VI Road, Thungphayathai, Rajadevi, Bangkok 10400 Thailand.
Telephone: +66 (0) 81 910 5509 Email: splabeam@gmail.com

Conflict of interest: The authors declare that they have no conflicts of interest with the contents of this article.

 

Submitted: 

19 March 2021

Accepted:

6 April 2021

Published:

1 July 2021

 

Abstract

Hanging is the most popular method of suicide. Several different mechanisms are explained how death after hanging occurs, including direct injury to the thyroid gland. This study aimed to determine the possibility of death associated with acute excess levels of thyroid hormones in the deceased body by hanging and to find the correlation of thyroid hormone levels and various factors associated with that body. Blood samples of 24 decreased corpses by hanging were examined to detect thyroid hormone levels (FT3, FT4 and TSH) and the statistical correlation between thyroid hormone levels and associated factors, which are sex, age, position of ligature mark and neck injuries, were determined. Of all samples, FT3 or FT4 levels were higher than normal level at 41.7%. Only FT3 and FT4 levels were 29.2% and 20.8%, respectively. When various factors associated with hanging were compared, acute high thyroid hormone levels were not significantly associated with hanging-related factors. Hence, acute excess levels of thyroid hormones may be found in the hanging body but this biochemical change is still an inconclusive mechanism of death by hanging.

Keywords: hanging; post-mortem; thyroid hormone


 

 

ระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์สูงกว่าปกติอย่างเฉียบพลันจากการแขวนคอ สามารถเป็นกลไกการเสียชีวิตได้หรือไม่?


ศศิพร ด้วงทองแก้ว1, วิชาญ เปี้ยวนิ่ม1* และสุพัตรา ลีลาภิวัฒน์2

1. หน่วยนิติเวชวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
2. 
หน่วยพยาธิวิทยาคลินิก ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

การติดต่อผู้นิพนธ์ประสานงาน: รองศาสตราจารย์ พลอากาศตรี นายแพทย์วิชาญ เปี้ยวนิ่ม
หน่วยนิติเวชวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 270 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี จังหวัดกรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10400 ประเทศไทย
หมายเลขโทรศัพท์มือถือ: +66 (0) 81 910 5509 อีเมล์: splabeam@gmail.com

 

ผลประโยชน์ทับซ้อน: ผู้นิพนธ์ทุกคนแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเนื้อหาของบทความนี้

 

ส่งต้นฉบับ:

วันที่ 19 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2564

รับลงตีพิมพ์:

วันที่ 6 เดือนเมษายน พ.ศ. 2564

ตีพิมพ์เผยแพร่:  

วันที่ 1 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564

 

บทคัดย่อ

การแขวนคอเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการกระทำอัตวินิบาตกรรมมากที่สุด ซึ่งคำอธิบายของกลไกการเสียชีวิตมีได้หลายประการ รวมถึงการที่ตำแหน่งของรอยกดรัดมักจะต้องพาดผ่านลำคอบริเวณด้านหน้า จึงอาจทำให้ กระทบกับต่อมไทรอยด์ได้ วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้คือ การหาความเป็นไปได้ของการเสียชีวิตจากการเกิดระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์สูงกว่าปกติอย่างเฉียบพลันในศพผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอ และการหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์กับปัจจัยต่าง ๆ ในศพดังกล่าว สำหรับวิธีการศึกษาคือ นำเลือดของศพที่เสียชีวิตจากการแขวนคอ 24 ราย มาตรวจหาระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ (FT3, FT4 และ TSH) และหาความสัมพันธ์ทางสถิติกับปัจจัยต่าง ๆ คือ เพศ อายุ ตำแหน่งของรอยกดรัด และการบาดเจ็บบริเวณคอ ซึ่งจากผู้ที่เสียชีวิตจากการแขวนคอทั้งหมดพบว่า ร้อยละ 41.7 มีระดับของ FT3 หรือ FT4 สูงกว่าปกติ โดยร้อยละ 29.2 และ 20.8 พบระดับ FT3 และ FT4 สูงเพียงอย่างเดียวตามลำดับ แต่การเกิดระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์สูงกว่าปกติอย่างเฉียบพลัน ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดจากการแขวนคอ ดังนั้นในศพผู้ที่เสียชีวิตจากการแขวนคอสามารถพบว่ามีระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์สูงกว่าปกติอย่างเฉียบพลันได้ แต่ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีนี้เป็นกลไกการเสียชีวิตของการแขวนคอ

คำสำคัญ: การแขวนคอ; การชันสูตรศพ; ฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์


 

บทนำ

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาเรื่องภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายมีอัตราที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ซึ่งในปี พ.ศ.​2562 (ค.ศ. 2019) ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเป็นอันดับที่ 32 ของโลก เป็นอันดับที่ 5 ของทวีปเอเชีย และเป็นอันดับที่ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคิดเป็นจำนวนทั้งหมด 14.4 คนต่อจำนวนประชากร 100,000 คน(1) และวิธีที่นิยมใช้ในการกระทำอัตวินิบาตกรรมเป็นอันดับที่หนึ่งคือ การแขวนคอซึ่งคิดเป็นร้อยละ 62.1 – 80 รองลงมาคือการกินยากำจัดศัตรูพืชหรือยาฆ่าแมลง และการตกจากที่สูงตามลำดับ(2-5)

สำหรับการเสียชีวิตจากการแขวนคอนั้น เกิดจากน้ำหนักของร่างกายส่งผลให้มีแรงกดทับอวัยวะบริเวณลำคอ โดยกลไกการเสียชีวิตจากการแขวนคอมีดังต่อไปนี้ คือ

  1. การกดรัดหลอดเลือดดำใหญ่บริเวณคอ (External jugular vein)
  2. การกดรัดหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอ (Common carotid artery)
  3. การกดรัดทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ว่าจะเป็นหลอดลม (Trachea) หรือกล่องเสียง (Larynx)
  4. การกระตุ้นแคโรติดไซนัส (Carotid sinus) ซึ่งเป็นบริเวณที่ใช้รับความเปลี่ยนแปลงของความดันในหลอดเลือด โดยทำให้หัวใจเต้นช้าลง [Vagal reflex หรือ Cardioinhibitory reflex cardiac arrest (CiRCA)](6,7)

เนื่องจากตำแหน่งของรอยกดรัดจะต้องพาดผ่านบริเวณคอด้านหน้า จึงอาจตรงกับตำแหน่งของต่อมไทรอยด์ซึ่งผลิตฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ดังนั้นอาจจะทำให้ต่อมไทรอยด์เกิดการผลิตฮอร์โมนมากหรือน้อยเกินไป และส่งผลให้เกิดความผิดปกติของร่างกายได้ ทั้งนี้ภาวะ Acute thyrotoxicosis เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์มากเกินไป จนอาจทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายล้มเหลวถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งโดยทั่วไปภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การเจ็บป่วย การผ่าตัด การคลอดบุตร และการบาดเจ็บบริเวณลำคอ เป็นต้น(8-13)

จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่ามีรายงานผู้ป่วยหลายรายที่เกิดภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง (Thyroid storm) จากอุบัติเหตุต่าง ๆ บริเวณลำคอ(10-13) โดย Shrum และคณะได้รายงานเกี่ยวกับผู้ที่รอดชีวิตจากการแขวนคอและได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง แล้วได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ(13) ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาเกี่ยวกับกลไกการเสียชีวิตจากการแขวนคอว่า ระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์จะสูงกว่าปกติอย่างเฉียบพลันก่อนการเสียชีวิตหรือไม่ และมีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอ

 

วัสดุและวิธีการ

รูปแบบการศึกษา:

การศึกษานี้กระทำโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง (Retrospective study) ซึ่งรวบรวมจากรายงานการตรวจศพผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอของห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ สาขาวิชานิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ 1 เดือนกันยายน พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) ถึงวันที่ 31 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) โดยศพทุกรายจะได้รับการผ่าชันสูตรศพ ร่วมกับการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการของเลือดหลังการเสียชีวิต และการตรวจทางพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อจากอวัยวะต่าง ๆ จากศพนั้น อนึ่งการศึกษานี้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (COA. MURA2020/83)

ลักษณะประชากรที่ศึกษา:

ก. เกณฑ์การคัดเลือกตัวอย่าง

  1. ศพผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอ ซึ่งมีรายงานตรวจศพของห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ฯ

ข. เกณฑ์การคัดออกกลุ่มตัวอย่าง

  1. ศพผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอซึ่งร่างกายมีลักษณะเน่าเปื่อย
  2. ศพผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอซึ่งมีประวัติโรคของต่อมไทรอยด์ก่อนเสียชีวิต
  3. ศพผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอซึ่งมีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์จากการมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าขณะผ่าชันสูตรศพ หรือจากการตรวจทางพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ของศพนั้น
  4. ศพผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอซึ่งมีผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการของตัวอย่างเลือด พบว่าระดับของฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (ทีเอสเฮช) [Thyroid-stimulating hormone (TSH)] มีค่าน้อยกว่าปกติ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ (Hyperthyroidism) ขณะยังมีชีวิตอยู่ก่อนการทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการแขวนคอ
  5. ศพผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอซึ่งถูกเก็บตัวอย่างเลือดในปริมาณที่ไม่เพียงพอ สำหรับการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการของระดับฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนินอิสระ (เอฟที 3) [Free triiodothyronine (FT3)] ฮอร์โมนไทร็อกซินอิสระ (เอฟที 4) [Free thyroxine (FT4)] และฮอร์โมน TSH

การเก็บตัวอย่าง:

ศพผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอทุกรายจะถูกทำการผ่าชันสูตรศพโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ พร้อมกับบันทึกสิ่งต่อไปนี้ (1) เพศ; (2) อายุ (ปี); (3) ตำแหน่งของรอยกดรัดอยู่ที่บริเวณกล่องเสียง (Larynx) หรือไม่; (4) ลักษณะของการบาดเจ็บบริเวณลำคอ ได้แก่ การพบเลือดออกบริเวณกล้ามเนื้อคอ (Neck muscle haemorrhage) การพบกระดูกโคนลิ้นหัก (Hyoid bone fracture) การพบกระดูกอ่อนไทรอยด์หัก (Thyroid cartilage fracture) และการฉีกขาดของผนังด้านในหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอ (Intimal tear of carotid artery); (5) การตรวจต่อมไทรอยด์และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ น้ำหนักและลักษณะที่พบเมื่อดูด้วยตาเปล่าและกล้องจุลทรรศน์; และ (6) ระดับของฮอร์โมน TSH ฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ในเลือด

การตรวจทางกล้องจุลทรรศน์เป็นการตรวจเนื้อเยื่อตัดบาง (Tissue sections) ที่ถูกย้อมด้วยสี Haematoxylin และ Eosin (H&E stain) ของชิ้นเนื้อตัวอย่างจากต่อมไทรอยด์และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งถูกแช่ในสารละลาย 10% Formalin และฝังในสารพาราฟฟิน (Paraffin)

ขณะทำการผ่าชันสูตรศพที่นำมาศึกษาทุกราย จะมีการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดจาก Femoral vein ปริมาณ 3 – 5 มิลลิลิตร (mL) ใส่ลงในหลอดเก็บเลือดที่ไม่มีสารกันเลือดแข็ง (Clotted blood tube) ซึ่งมีจุกสีแดง แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส (ºC) เพื่อการตรวจวัดระดับของฮอร์โมน TSH ฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ในเลือดด้วยเครื่อง ARCHITECT i2000SR chemiluminescent microparticle immunoassay (CMIA) ณ ห้องปฏิบัติการเคมีคลินิก ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ค่าปกติระดับฮอร์โมน TSH ในเลือดคือ 0.35 – 4.94 ไมโครยูนิต/มิลลิลิตร (µU/mL) ค่าปกติระดับฮอร์โมน FT3 ในเลือดคือ 1.88 – 3.18 พิโคกรัม/มิลลิลิตร (pg/mL) และค่าปกติระดับฮอร์โมน FT4 ในเลือดคือ 0.70 – 1.48 นาโนกรัม/เดซิลิตร (ng/dL)

การวิเคราะห์ทางสถิติ:

ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลจากการผ่าชันสูตรศพกับระดับฮอร์โมนในเลือดดังกล่าวข้างต้น ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสถิติ SPSS ซึ่งกำหนดค่านัยสำคัญทางสถิติที่ค่า p < 0.050

 

ผลการศึกษา

การตรวจศพผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอจำนวน 30 ราย พบว่ามีศพจำนวน 6 รายถูกคัดออกจากการศึกษา ซึ่งประกอบด้วยศพที่มีร่างกายเน่าเปื่อยจำนวน 4 ราย ศพที่มีประวัติโรคคอพอกก่อนเสียชีวิตจำนวน 1 ราย และศพที่พบการเพิ่มจำนวนเซลล์ของต่อมไทรอยด์ (Thyroid hyperplasia) บางส่วนเมื่อทำการตรวจทางพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ของศพนั้นจำนวน 1 ราย ส่วนศพที่เหลือนั้นประกอบด้วยเพศชายจำนวน 18 รายและเพศหญิงจำนวน 6 ราย โดยศพจำนวนทั้งสิ้น 24 รายดังกล่าวนี้มีอายุระหว่าง 13 – 75 ปี (ค่าเฉลี่ยคือ 39.08 ปี) ต่อมไทรอยด์มีน้ำหนักระหว่าง 8 – 30 กรัม (ค่าเฉลี่ยคือ 16 กรัม) ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติ(10) สำหรับการบาดเจ็บบริเวณลำคอที่ตรวจพบมีดังต่อไปนี้คือ (1) เลือดออกบริเวณกล้ามเนื้อคอ จำนวน 10 ราย (ร้อยละ 41.67); (2) กระดูกโคนลิ้นหัก จำนวน 1 ราย (ร้อยละ 4.17); (3) กระดูกอ่อนไทรอยด์หัก จำนวน 5 ราย (ร้อยละ 20.83); และ (4) การฉีกขาดของผนังด้านในหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอ จำนวน 3 ราย (ร้อยละ 12.5) ค่าระดับฮอร์โมน TSH ในเลือดพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ค่าระดับฮอร์โมน FT3 ในเลือดอยู่ระหว่าง 1.97 – 11.26 pg/mL (ค่าเฉลี่ยคือ 3.77 pg/mL) และค่าปกติระดับฮอร์โมน FT4 ในเลือดอยู่ระหว่าง 0.73 – 3.89 ng/dL (ค่าเฉลี่ยคือ 1.43 ng/dL) (ตารางที่ 1) โดยการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ในเลือดจากศพผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอ มีลักษณะดังต่อไปนี้คือ

  1. ระดับของฮอร์โมน FT3 ในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ จำนวน 17 ราย (ร้อยละ 70.8)
  2. ระดับของฮอร์โมน FT3 ในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ จำนวน 7 ราย (ร้อยละ 29.2)
  3. ระดับของฮอร์โมน FT4 ในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ จำนวน 19 ราย (ร้อยละ 79.2)
  4. ระดับของฮอร์โมน FT4 ในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ จำนวน 5 ราย (ร้อยละ 20.8)
  5. ระดับของฮอร์โมน FT3 หรือฮอร์โมน FT4 ในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ จำนวน 14 ราย (ร้อยละ 58.3)
  6. ระดับของฮอร์โมน FT3 หรือฮอร์โมน FT4 ในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ จำนวน 10 ราย (ร้อยละ 41.7)
  7. ระดับของทั้งฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ จำนวน 22 ราย (ร้อยละ 91.7)
  8. ระดับของทั้งฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ จำนวน 2 ราย (ร้อยละ 8.3)

อย่างไรก็ตามระดับของฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ในเลือดจากศพผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอ ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับเพศ อายุ ตำแหน่งของรอยกดรัดที่ลำคอ การพบเลือดออกบริเวณกล้ามเนื้อคอ การพบกระดูกอ่อนไทรอยด์หัก และการฉีกขาดของผนังด้านในหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอของศพดังกล่าว (p-value > 0.050) สำหรับศพที่พบว่ามีกระดูกโคนลิ้นหักจำนวน 1 รายนั้น ปรากฏว่าระดับฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนศพที่ตรวจพบว่าระดับของฮอร์โมนทั้งสองสูงในเลือดไม่ปรากฏการหักของกระดูกโคนลิ้นเลย (ตารางที่ 2)

 

การอภิปราย

Devereaux และ Tewelde รายงานว่าการวินิจฉัยภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ (Hyperthyroidism) สามารถทำได้โดยการเจาะเลือดหาระดับของฮอร์โมน TSH ฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ซึ่งอาจพบได้ทั้งในรูปแบบที่ระดับฮอร์โมน FT3 หรือฮอร์โมน FT4 ในเลือดสูงเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือสูงขึ้นทั้งสองชนิด(14) ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณลำคอรวมถึงผู้ที่รอดชีวิตจากการแขวนคอด้วย สามารถเกิดภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง (Thyroid storm) ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และอันตรายถึงแก่ชีวิตได้(10-13) โดยการวินิจฉัยภาวะนี้ต้องอาศัยอาการแสดงที่ปรากฏร่วมกับผลการตรวจระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ในเลือด(9,15) แม้กระนั้นก็ตามการเสียชีวิตจากการแขวนคอนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีระยะเวลาเพียงพอสำหรับการควบคุมการหลั่งฮอร์โมน TSH แบบยับยั้งย้อนกลับ (Negative feedback) จึงไม่ทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษรุนแรงในผู้ที่แขวนคอ แต่ระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์อาจสูงกว่าปกติอย่างเฉียบพลันก่อนการเสียชีวิต ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของหัวใจจนมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและเป็นสาเหตุของเสียชีวิตได้(9) ทว่าภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่สามารถตรวจพบได้จากการผ่าชันสูตรศพ(16)

การศึกษานี้พบว่าศพผู้เสียชีวิตจากการแขวนคอมีค่าเฉลี่ยของระดับฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ในตัวอย่างเลือดที่ถูกเจาะจาก Femoral vein คือ 3.77 pg/mL และ 1.43 ng/dL ตามลำดับ โดยร้อยละ 29.2 ของจำนวนของศพจากเหตุดังกล่าวที่ถูกตรวจพบระดับฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติคิดเป็นร้อยละ 29.2 และ 20.8 ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างจากรายงานของ Senol และคณะที่พบว่าร้อยละ 80.3 ของศพผู้เสียชีวิตจากการแขวนคอมีระดับฮอร์โมน FT3 ในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยค่าเฉลี่ยของระดับฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ในตัวอย่างเลือดที่ถูกเจาะจากหัวใจคือ 7.27 pg/mL และ 2.42 ng/dL ตามลำดับ(17) ทั้งนี้แหล่งที่มาของการเก็บตัวอย่างเลือดอาจมีผลต่อค่าระดับฮอร์โมน

 

ตารางที่ 1 ลักษณะที่ตรวจพบจากการผ่าชันสูตรศพที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอจำนวน 24 ราย และผลการตรวจวัดระดับฮอร์โมนซึ่งเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ในเลือดของศพดังกล่าว

 

ตารางที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะที่ตรวจพบจากการผ่าชันสูตรศพผู้ที่เสียชีวิตโดยการแขวนคอจำนวน 24 ราย กับระดับฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ในเลือดของศพดังกล่าว

จากต่อมไทรอยด์ที่ถูกตรวจพบในเลือดได้ โดยฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์อาจถูกปล่อยออกมาในปริมาณมากอย่างเฉียบพลันขณะมีการกดรัดที่ลำคอ แล้วฮอร์โมนดังกล่าวไปสะสมอยู่ในเลือดของหัวใจซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ไม่ห่างจากต่อมไทรอยด์ และน่าจะมีปริมาณสะสมน้อยในหลอดเลือดของลำตัวช่วงล่างนั่นเอง(18) ส่วนรายงานของ Palmiere และคณะที่ศึกษาในศพผู้เสียชีวิตจากการแขวนคอจำนวน 16 ราย พบว่าศพจำนวน 9 ราย (ร้อยละ 56.25) มีระดับฮอร์โมน FT3 ในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ แต่ศพทุกรายไม่มีระดับฮอร์โมน FT4 ในเลือดสูงขึ้น(19)

ในผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เมื่ออายุมากขึ้น ระดับของฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 จะไม่ลดลง เนื่องจากภาวะสมดุลของร่างกายระหว่างกระบวนการผลิตฮอร์โมนและการปล่อยฮอร์โมนออกจากต่อมไทรอยด์(20) ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่อายุของศพผู้เสียชีวิตจากการแขวนคอไม่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ที่ถูกตรวจพบในเลือดของศพเหล่านั้น

Shrum และคณะได้รายงานเกี่ยวกับผู้ที่รอดชีวิตจากการแขวนคอแล้วเกิดภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษรุนแรงตามมา โดยเป็นผลจากการกดรัดที่บริเวณด้านหน้าของลำคอแล้วก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่บริเวณส่วนล่างของต่อมไทรอยด์(13) แต่จากการศึกษาในศพผู้เสียชีวิตจากการแขวนคอ ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งรอยกดรัดที่บริเวณกล่องเสียงกับการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ในเลือดของศพดังกล่าว ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระดับออร์โมนทั้งสองชนิดในผู้ที่รอดชีวิตจากการแขวนคอ

การบีบคออย่างรุนแรงมักทำให้เกิดเลือดออกบริเวณกล้ามเนื้อคอ แต่ผลจากการผ่าชันสูตรศพพบว่าร้อยละ 20 – 30 ของผู้ที่เสียชีวิตจากการแขวนคอมีเลือดออกในกล้ามเนื้อคอได้(6) ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษานี้คือร้อยละ 41.67 ของศพผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อคอเช่นเดียวกัน ส่วนการหักของกระดูกโคนลิ้นมักเกิดการการรัดคอ(6) โดยการศึกษานี้พบในศพผู้ที่เสียชีวิตจากการแขวนคอเพียงรายเดียวจากศพดังกล่าวจำนวน 24 ราย (ร้อยละ 4.17) ซึ่งแตกต่างจากรายงานการศึกษาก่อนหน้านี้ที่พบกระดูกโคนลิ้นหักตั้งแต่ร้อยละ 15 – 48 สำหรับการหักของกระดูกอ่อนไทรอยด์มักจะพบได้จากการแขวนคอ(6) ตั้งแต่ร้อยละ 26 – 47(21-23) ซึ่งใกล้เคียงกับการศึกษานี้ที่พบกระดูกอ่อนไทรอยด์หักร้อยละ 20.83 อนึ่ง De Boos รายงานว่าการแขวนคอทำให้เกิดการบาดเจ็บของหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอได้ร้อยละ 5(24) โดยเฉพาะการฉีกขาดของผนังด้านในหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอจากการแขวนคอสามารถพบได้ตั้งแต่ร้อยละ 9 – 17(23,25) ซึ่งไม่แตกต่างกับการศึกษานี้ที่พบพยาธิสภาพดังกล่าวร้อยละ 12.5 อย่างไรก็ตามการบาดเจ็บของอวัยวะบริเวณลำคอซึ่งถูกตรวจพบในศพผู้ที่เสียชีวิตจากการแขวนคอ ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับระดับของฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 ในเลือดที่สูงขึ้นของศพดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนทั้งสองชนิด เป็นผลจากกลไกการกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์โดยปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่พยาธิสภาพอันเนื่องจากการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อบริเวณลำคอ

 

สรุป

การแขวนคออาจทำให้ฮอร์โมน FT3 และฮอร์โมน FT4 จากต่อมไทรอยด์มีระดับสูงกว่าปกติอย่างเฉียบพลันก่อนการเสียชีวิต แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนดังกล่าวเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากการแขวนคอ

 

กิตติกรรมประกาศ

การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนโดยทุนอุดหนุนการวิจัยจากเงินรายได้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เอกสารอ้างอิง

  • Kaewyasri K, Soontaraviratana B, Kotkeaw N. Situation and guideline for suicide prevention: stakeholder perspectives Loei Province, Thailand. AJCPH 2021;7(3):112-126.
  • กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล. เจาะปัญหาฆ่าตัวตายในสังคมไทย สาเหตุการตายผิดธรรมชาติสูงอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ. 2019; Available at: https://www.hfocus.org/content/2019/05/17140. Accessed September 12th, 2019.
  • Kanchan T, Menon A, Menezes RG. Methods of choice in completed suicides: gender differences and review of literature. J Forensic Sci 2009 Jul;54(4):938-942.
  • Tulapunt N, Phanchan S, Peonim V. Hanging fatalities in central Bangkok, Thailand: A 13-year retrospective study. Clin Med Insights Pathol 2017 Feb 23;10:1179555717692545.
  • Peonim V, Sujirachato K, Srisont S, Udnoon J, Worasuwannarak W. Committed suicide: forensic autopsy analysis at Ramathibodi Hospital during year 2001-2010. J Med Assoc Thai 2014 Jun;97(6):662-668.
  • Saukko P, Knight B. Knight's Forensic Pathology. Fourth ed. The United States of America: CRC Press; 2016.
  • DiMaio VJ, DiMaio D. Forensic Pathology. Second ed. The United States of America: CRC Press; 2001.
  • Institute for Quality and Efficiency in Health Care (IQWiG). How does the thyroid gland work? 2018; Available at: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279388/. Accessed August 29th, 2019.
  • Beynon ME, Pinneri K. An overview of the thyroid gland and thyroid-related deaths for the forensic pathologist. Acad Forensic Pathol 2016 Jun;6(2):217-236.
  • Conte JI, Arosemena MA, Kapoor K, Dempsey NG, Zaleski ML, Kargi AY. Thyroid storm triggered by strangulation in a patient with undiagnosed Graves' disease. Case Rep Endocrinol 2018 Jan 2;2018:4190629.
  • Hagiwara A, Murata A, Matsuda T, Sakaki S, Shimazaki S. Thyroid storm after blunt thyroid injury: a case report. J Trauma 2007 Sep;63(3):E85-7.
  • Ramirez JI, Petrone P, Kuncir EJ, Asensio JA. Thyroid storm induced by strangulation. South Med J 2004 Jun;97(6):608-610.
  • Shrum JM, Byers B, Parhar K. Thyroid storm following suicide attempt by hanging. BMJ Case Rep 2014 Jul 9;2014:10.1136/bcr-2014-204589.
  • Devereaux D, Tewelde SZ. Hyperthyroidism and thyrotoxicosis. Emerg Med Clin North Am 2014 May;32(2):277-292.
  • Satoh T, Isozaki O, Suzuki A, Wakino S, Iburi T, Tsuboi K, et al. 2016 Guidelines for the management of thyroid storm from The Japan Thyroid Association and Japan Endocrine Society (First edition). Endocr J 2016 Dec 30;63(12):1025-1064.
  • Semsarian C, Ingles J. Molecular autopsy in victims of inherited arrhythmias. J Arrhythm 2016 Oct;32(5):359-365.
  • Senol E, Demirel B, Akar T, Gulbahar O, Bakar C, Bukan N. The analysis of hormones and enzymes extracted from endocrine glands of the neck region in deaths due to hanging. Am J Forensic Med Pathol 2008 Mar;29(1):49-54.
  • Edston E, Druid H, Holmgren P, Ostrom M. Postmortem measurements of thyroid hormones in blood and vitreous humor combined with histology. Am J Forensic Med Pathol 2001 Mar;22(1):78-83.
  • Palmiere C, Tettamanti C, Scarpelli MP, Rousseau G, Egger C, Bongiovanni M. Postmortem biochemical investigation results in situations of fatal mechanical compression of the neck region. Leg Med (Tokyo) 2018 Jan;30:59-63.
  • Sawlani S, Saini R, Vuppuluri R, Rojas L, Patel M, Patel P, et al. Endocrine changes with aging. Endocrinol Metab Int J 2016;3(6):133-143.
  • Nikolic S, Zivkovic V, Babic D, Jukovic F, Atanasijevic T, Popovic V. Hyoid-laryngeal fractures in hanging: where was the knot in the noose? Med Sci Law 2011 Jan;51(1):21-25.
  • Uzun I, Buyuk Y, Gurpinar K. Suicidal hanging: fatalities in Istanbul retrospective analysis of 761 autopsy cases. J Forensic Leg Med 2007 Oct;14(7):406-409.
  • Suarez-Penaranda JM, Alvarez T, Miguens X, Rodriguez-Calvo MS, de Abajo BL, Cortesao M, et al. Characterization of lesions in hanging deaths. J Forensic Sci 2008 May;53(3):720-723.
  • De Boos J. Review article: Non-fatal strangulation: hidden injuries, hidden risks. Emerg Med Australas 2019 Jun;31(3):302-308.
  • Hejna P. Amussat's sign in hanging--a prospective autopsy study. J Forensic Sci 2011 Jan;56(1):132-135.